top of page
การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต

 

          ในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตนั้น สิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันจะต้องมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ทั้งนี้เพราะต่างมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษในสายวิวัฒนาการเดียวกัน

          ในการจัดจำแนก (classification) ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนุกรมวิธานนั้นมีการจัดเป็นลำดับขั้นโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันทางสายวิวัฒนาการและความคล้ายคลึงกันของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นโดยมีลำดับขั้นการจัดหมวดหมู่ใหญ่แล้วแบ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ อีกหลายระดับ หมวดหมู่ใหญ่สุดของสิ่งมีชีวิตคือ อาณาจักร (Kingdom) และหมวดหมู่ย่อยรองลงมาเรียกว่า ไฟลัม (Phylum) ในไฟลัมหนึ่งๆแยกออกเป็นคลาส (Class) หลายคลาส ในแต่ละคลาสแยกออกเป็นหลายอันดับ (Order) แต่ละอันดับแยกออกเป็นหลายวงศ์ (Family) ในแต่ละวงศ์ยังแยกเป็นหลาย สกุล (Genus) แต่ละสกุลแบ่งย่อยเป็นหลายสปีชีส์ (Species)

          ในแต่ละลำดับขั้นอาจมีการแบ่งขั้นย่อยที่แทรกอยู่ โดยใช้คำว่า ซับ  (Sub) เติมหน้าชื่อขั้นเช่น ซับคลาส  (Subclass) เป็นขั้นที่มีระดับต่ำกว่าคลาส แต่สูงกว่าออร์เดอร์หรือคำว่า ซูเปอร์ (Super) เติมหน้าชื่อขั้นเช่น ซูเปอร์เดอร์ (Superorder) จะมีระดับสูงกว่าออร์เดอร์แต่ต่ำกว่าซับคลาส

ชื่อของสิ่งมีชีวิต

 

           สิ่งมีชีวิตมีการกระจายพันธุเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยชื่อท้องถิ่นมักจะตั้งตามลักษณะของสิ่งมีชีวิต เช่น ว่านหางจระเข้ ตั๊กแตนกิ่งไม้ หรือตั้งตามถิ่นกำเนิด เช่น ผักตบชวา ต้นยางอินเดีย มันฝรั่ง หรือตั้งตามประโยชน์ใช้สอย เช่น หอยมุก โคนม เป็นต้น

           นักเรียนจะเห็นว่า ชื่อท้องถิ่นมีประโยชน์ในการเรียกชื่อของสิ่งมีชีวิตนั้นในชีวิตประจำวัน เมื่อใช้สื่อสารกับคนต่างท้องถิ่นอาจมีความหมายไม่ตรงกัน เช่นมีชื่อเรียกเหมือนกันแต่อาจเป็นสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กันก็ได้ ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดเกณฑ์ในการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ในการอ้างอิงเป็นระบบเดียวกัน โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์จะมี ชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) เพียงชื่อเดียว

           คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอนุกรมวิธาน เป็นคนที่กำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต แบบทวินาม (binomial nomenclature) คือส่วนแรกเป็นชื่อสกุล(generic name) ส่วนที่สองเป็น ชื่อที่ระบุสปีชีส์ (specific epithet) ทั้งส่วนแรกและส่วนที่สองต้องทำให้เป็นคำในภาษาลาตินเสมอ

           การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ คำแรกเริ่มต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนคำหลังใช้ตัวพิมพ์เล็ก มักพิมพ์ให้แตกต่างจากตัวอื่นโดยใช้ตัวเอนหรือขีดเส้นใต้และอาจมีชื่อของผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์กำกับไว้ด้วยเสมอเมื่อกล่าวถึงครั้งแรกในบทความ เช่น ข้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าOryza sativa Linn. คำว่า Linn. เป็นชื่อย่อของ Carolus Linnaeus ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ การกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์มักใช้ลักษณะของสิ่งมีชีวิตหรือสถานที่ค้นพบ เช่น ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดใหม่ของโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phuwiangosaurus sirindhornae ชื่อสกุลPhuwiangosaurus หมายถึงไดโนเสาร์พันธุ์นี้พบที่อำเภอภูเวียงจังหวัดขอนแก่น ชื่อที่ระบุสปีชีส์ sirindhornae ตั้งเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด้จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

          ในบางกรณีจะระบุปี ค.ศ.ที่ตีพิมพ์ชื่อนั้น เช่น จำปีสิรินธรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia sirindhorniae Noot& Chalermglin,2000 ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ(คือsirindhorniae)Noot คือชื่อสกุลของ Nootiboom Chalermglin คือชื่อสกุลของ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์นี้เมื่อปี ค.ศ.2000 เป็นต้น

การระบุชนิด

 

          การศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์ จะต้องระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นโดยการสร้างเครื่องมือสำหรับตรวจหาและระบุชนิดหรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตว่าเคยจัดหมวดหมู่หรือตั้งชื่อไว้แล้วหรือยัง หากพบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยถูกจัดหมวดหมู่หรือตั้งชื่อมาก่อน ก็จะศึกษาเพื่อจัดจำแนกและตั้งชื่อต่อไปเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการระบุชนิดหรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิต คือ ไดโคโตมัสคีย์ (dichotomous key) ตัวอย่างเช่นไดโคมัสคีย์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ในกิจกรรมที่ 19.2 (ในหนังสือเรียนชีววิทยา เล่ม 5 สสวท. หน้า 12) 

การศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

 

          ความหลากหลายทางชีวภาพที่พบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากการเกิดวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตในช่วงระยะเวลากว่า3,000 ล้านปี โดยในแต่ละยุคจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นใหม่บ้างหรือสูญพันธุ์ไปบ้างบางส่วนก็ทิ้งร่องรอยแสดงให้เห็นถึงความรุ้งโรจน์ของสปีชีส์นั้นแต่ส่วนใหญ่มักสูญหายไปโดยไม่ปรากฏร่องรอยเหลือไว้เลยอย่างไรก็ตามนักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินได้พยายามสร้างตารางเวลา เพื่บันทึกลำดับเหตุการณ์กำเนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยใช้หลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ ที่สามารถคำนวณอายุได้ 

 คาโรลัส ลินเนียส
bottom of page